วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ศึกษาเรื่อง นิพพาน

ศึกษาเรื่อง นิพพาน
บทนำ
สรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่าล้วน เกลียดกลัวความทุกข์ และปรารถนาความสุขโดยส่วนเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสุขที่เป็นอมตนิรันดร์ไม่แปรเปลี่ยนกลับกลายเป็นทุกข์อีก ดังนั้นอมตสุขหรือสุขในพระนิพพาน จึงเป็นเป้าหมายที่ประเสริฐสูงสุดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ผู้ใดได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าใจเป้าหมายชีวิตอันประเสริฐสูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ผู้นั้นย่อมสามารถออกแบบชีวิตของตนเองได้ถูกต้องและดำเนินชีวิตให้ปลอดภัยได้ และในระหว่างที่ยังต้องท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏก็จะเป็นผู้ท่องเที่ยวไปอย่างผู้มีชัยชนะได้ตลอดกาล
นิพพาน บทสรุปของชีวิตในสังสารวัฏ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะนิพพานเป็นแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ เป็นที่ประชุมของผู้บริสุทธิ์ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งปวง เป็นสถานที่ที่ไม่มีทุกข์เจือปนเลย เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ผู้ใดได้ไปสู่นิพพาน ผู้นั้นย่อมไม่กลับมาเกิดอีก และพ้นจากการเวียนวายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏอันยาวนานหาที่สุดไม่ได้ เพราะหากทำอกุศลกรรมเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ก็จะไปสู่อบายภูมิ ต้องได้รับทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสยาวนานทีเดียว หรือหากทำกุศลกรรมที่ยังไม่เต็มที่ มีเป้าหมายไม่ชัดเจน ไม่มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน มีกิเลสที่ยังหนาอยู่ ก็ยังต้องท่องเที่ยวอยู่ในเทวภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ กว่าจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกก็ยาวนาน และยังต้องวนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่สิ้นสุด
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถอธิบายความหมาย ประเภทของนิพพานได้อย่างถูกต้อง
2. เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถอธิบาย ข้อปฏิบัติเพื่อไปสู่นิพพานได้อย่างถูกต้อง

1. ความมีอยู่จริงแห่งนิพพาน
ในเรื่องนิพพานนี้ มีบางท่านแม้จะเป็นพุทธศาสนิกชนก็ตาม แต่กลับมีความเห็นว่า พระนิพพานไม่มีอยู่จริง เป็นเรื่องไกลตัว และเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะหมดกิเลสบรรลุสภาวะที่เรียกว่า นิพพานได้ หรือบางท่านมีความเชื่อว่า พระนิพพานมีจริง แต่เข้าใจว่าเป็นเรื่องของพระเท่านั้น ฆราวาสอย่างเราไม่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องศึกษาก็ได้ ซึ่งความเห็นเหล่านี้เป็นความเห็นผิดที่มีอยู่ในความคิดของคนทั่วไป หรือแม้เรื่องบุญบาป นรกสวรรค์ สำหรับคนทั่วไปก็ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยว่ามีจริงหรือไม่ หรือบางครั้งถึงขนาดปฏิเสธเลยว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มี โดยยังมิได้ศึกษาหรือปฏิบัติตามที่ผู้รู้แนะนำไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้ง ซึ่งในพระไตรปิฎกปรากฏมีพุทธวจนะของพระบรมศาสดายืนยันว่า นิพพานมีอยู่จริง โดยปรมัตถสัจจะ ที่สามารถถูกต้องได้ด้วยกาย (ธรรมกายและนามกาย) ดังจะขอยก พุทธวจนะบางตอนมาดังนี้

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้วปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้วอันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว จักไม่ได้มีแล้วไซร้ การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้วเป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้เลย
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ ฉะนั้น การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้วจึงปรากฏ ฯ"
"ฐานะที่บุคคลเห็นได้ยากชื่อว่า นิพพาน ไม่มีตัณหา นิพพานนั้นเป็นธรรมจริงแท้ ไม่เห็นได้โดยง่ายเลย ตัณหาอันบุคคลแทงตลอดแล้ว กิเลสเครื่องกังวลย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้รู้ ผู้เห็นอยู่"
ถึงแม้ว่าจะยกพุทธวจนะดังกล่าวมายืนยันก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้ใครเข้าใจได้ง่ายๆ เพราะนิพพานเป็นเรื่องของผู้ที่หมดกิเลสเท่านั้น และจะรู้เห็นได้ด้วยธรรมจักษุ เหมือนคนสมัยก่อนไม่เชื่อว่าโรคภัยไข้เจ็บมีสาเหตุเกิดมาจากเชื้อโรค เพราะมีความเชื่อว่า โรคเกิดจากผีสางบันดาลให้เป็นไป จนกระทั่งมีผู้ฉลาดสามารถคิดค้นผลิตกล้องจุลทรรศน์ขึ้นมา พิสูจน์ได้ว่าเชื้อโรคนั้นมีจริงจึงเชื่อกัน คือเชื่อแบบยังไม่ได้ใช้กล้องส่องดู เพราะจำกัดด้วยจำนวน มีราคาแพง และใช้ได้เฉพาะกลุ่มคนที่มีความรู้เช่น แพทย์ นักวิจัย เป็นต้น แต่ที่เชื่อเพราะเขามีผลจากการใช้อุปกรณ์มาให้ชม แม้ตนเองอาจจะไม่ได้ใช้ก็ตาม
ในทางพระพุทธศาสนา การมีดวงตาเห็นธรรม เป็นปัจจัตตัง คือ รู้เห็นได้ด้วยตนเอง การจะทำกล้องหรือดวงตาธรรมไปแจกใครนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หรือจะไปหยิบยืมใครมาใช้ก็ไม่ได้ เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นเฉพาะตนเอง เพราะมีอยู่ในตนเองเท่านั้น การจะได้มาซึ่งดวงตาเห็นธรรมหรือตาธรรมกาย จะต้องปรารภความเพียร หมั่นฝึกหัดขัดเกลาอบรมจิตใจ โดยเข้าไปศึกษากับท่านผู้รู้แจ้งเห็นจริงในภาคปฏิบัติ และหมั่นปฏิบัติตามท่าน ฝึกอบรมกาย วาจา ใจตามหลักศีล สมาธิ ปัญญา โดยเฉพาะจิตใจต้องฝึกจิตให้เป็นสมาธิ มีความสงบ สว่าง จนกิเลสหลุดล่อนไปตามลำดับ ยิ่งสงบมาก สว่างมากเท่าไร เราก็จะมีความเชื่อความเลื่อมใสในนิพพานมากเท่านั้น เพราะเป็นสภาวะที่ใกล้เคียงนิพพาน พอเทียบเคียงนิพพานได้ตามลำดับของจิตที่หลุดล่อนจากกิเลสแล้ว ยิ่งกิเลสหลุดล่อนมากเท่าไร ก็ใกล้นิพพานมากเท่านั้น แล้วจึงจะรู้ว่านิพพานมีอยู่จริง

2. แนวคิดของคนฉลาด

ธรรมดาคนส่วนมากมักเชื่อเฉพาะในสิ่งที่ตนเองสัมผัสทางทวารห้าคือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายเท่านั้นว่า มีอยู่จริง สิ่งอื่นที่พ้นวิสัยการสัมผัสแห่งทวารห้าแล้วไม่มีจริง ความเชื่อเช่นนั้นเป็นการปิดกั้นความรู้ความเห็นของตน เท่ากับเป็นการประกาศความไม่ฉลาดของตนเองออกมา โดยลืมไปว่า ตนเองยังมีทวารที่ 6 คือ ใจ ที่เมื่อได้รับการฝึกฝนแล้ว สามารถรู้เห็นสิ่งที่นอกเหนือจากทวารทั้งห้าได้ ดังนั้นเพื่อความฉลาดของเรา ควรหันมาศึกษาแนวคิดและข้อปฏิบัติอันไม่ผิดในสิ่งที่ผู้รู้สมัยก่อนใช้ตัดสินใจ ดังที่ท่านกล่าวไว้ใน อปัณณกสูตร โดยสรุปความว่า
1. ถ้ามีสมณพราหมณ์สองพวก พวกหนึ่งบอกว่า การทำทานไม่มีผล บุญบาปไม่มี โลกนี้โลกหน้า เป็นต้น ไม่มี อีกพวกหนึ่งบอกว่า มี เราจะมีหลักคิดพิจารณาอย่างไร นักปราชญ์สมัยนั้นเขาคิดว่า ในคำพูดของสมณพราหมณ์ทั้งสองนั้น เราก็ยังไม่รู้ไม่เห็น จึงไม่ควรปักใจเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เราคิดว่า ถ้าการทำทาน บุญบาป โลกนี้โลกหน้าไม่มีจริง คนที่ประพฤติทุจริตก็ยังถูกติเตียนว่าเป็นผู้ทุศีล และไม่เป็นที่ยกย่องของบัณฑิต แต่ถ้าโลกหน้ามีจริงคนที่ประพฤติทุจริตนอกจากถูกติเตียนในโลกนี้แล้ว ยังต้องพลัดไปสู่อบาย ทุคติ วินิบาต ส่วนคนที่ประพฤติสุจริตแม้ถ้าโลกหน้าไม่มีอยู่จริงเขาย่อมได้รับคำสรรเสริญในโลกนี้ ถ้าโลกหน้ามีจริง เขาย่อมได้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์
2. ถ้ามีสมณพราหมณ์สองพวก พวกหนึ่งบอกว่า อรูปพรหมไม่มีอยู่โดยประการทั้งปวง อีกพวกหนึ่งบอกว่า อรูปพรหมมีอยู่โดยประการทั้งปวง นักปราชญ์สมัยนั้นคิดว่า เราไม่รู้ไม่เห็นในวาทะ(คำพูด) ทั้งสองอย่าง การที่เราจะเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งว่าจริง เป็นการไม่สมควร แต่เราคิดว่า ถ้าเราทำฌานให้เกิดขึ้น ถ้าอรูปพรหมไม่มีจริง อย่างน้อยเราก็ได้ไปเกิดเป็นรูปพรหม แต่ถ้าอรูปพรหมมีจริง เราจะได้ไปเกิดเป็นอรูปพรหม
3. ถ้ามีสมณพราหมณ์สองพวก พวกหนึ่งบอกว่า ความดับสนิทแห่งภพ (นิพพาน) ไม่มีโดยอาการทั้งปวง อีกพวกหนึ่งบอกว่า ความดับสนิทแห่งภพมีอยู่โดยอาการทั้งปวง นักปราชญ์สมัยนั้นคิดว่า เราไม่รู้ ไม่เห็น การจะยึดถือคำพูดคนใดคนหนึ่งเป็นการไม่สมควร แต่เราควรทำอรูปฌานให้เกิดขึ้น อาศัย อรูปฌานเป็นบาทเจริญวิปัสสนา ถ้าคำพูดของคนแรกเป็นจริง (ที่ว่านิพพานไม่มี) ข้อที่ เราจักเกิดขึ้นในเหล่าเทวดาที่ไม่มีรูป (อรูปพรหม) สำเร็จด้วยสัญญา ซึ่งไม่เป็นความผิด นี้เป็นฐานะที่มีได้
อนึ่ง ถ้าคำของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพ (นิพพาน) มีอยู่ด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง ข้อที่เราจักปรินิพพานในปัจจุบัน เป็นฐานะที่จะมีได้
ความเห็นของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะว่า ความดับสนิทแห่งภพ(นิพพาน) ไม่มีอย่างนี้ ใกล้ต่อธรรมเป็นไปกับด้วยความกำหนัด ใกล้ต่อธรรมเครื่องประกอบสัตว์ไว้ ใกล้ต่อธรรมเครื่องเพลิดเพลิน ใกล้ต่อธรรมเครื่องสยบ ใกล้ต่อธรรมเครื่องถือมั่น
ส่วนความเห็นของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพมีอยู่ด้วยอาการทั้งปวงนี้ ใกล้ต่อธรรมอันไม่เป็นไปกับด้วยราคะ ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่ธรรมประกอบสัตว์ไว้ ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่เครื่องเพลิดเพลิน ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่เครื่องสยบ ใกล้ต่อธรรมอันไม่เป็นเครื่องยึดมั่น บุรุษผู้เป็นวิญญูนั้น ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมปฏิบัติเพื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับสนิทแห่งภพเท่านั้น
จากเนื้อหาในพระสูตรข้างต้น ทำให้เราได้ข้อสรุปว่า ผู้ที่เป็นบัณฑิตนักปราชญ์สมัยนั้น ท่านคิดและปฏิบัติแบบนี้ คือ ไม่เชื่อแต่ไม่ปฏิเสธในสิ่งที่ตนเองยังไม่รู้ไม่เห็นทันที แต่จะลงมือศึกษาและปฏิบัติสุจริตธรรมจนรู้แจ้งเห็นจริงได้ด้วยตนเอง ดังนั้นนักศึกษาก็จะต้องปฏิบัติตามบัณฑิตนักปราชญ์ในกาลก่อน ด้วยการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เพื่อให้ได้ผลที่แจ่มแจ้งด้วยตัวของเราเอง แม้ยังไม่สำเร็จในชาตินี้ ก็จะเป็นอุปนิสัยติดไปในชาติเบื้องหน้า ไม่มีอะไรเสียเปล่าเลย

3. ความหมายของนิพพาน

ถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับนิพพานมีอยู่หลายคำ อาจจะเกิดข้อกังขาที่ทำให้เข้าใจสับสนได้ โดยเฉพาะในพระไตรปิฎกมีความหมายที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้หลายนัยด้วยกัน และอรรถถาจารย์ได้ให้ความหมายเพิ่มเติม ซึ่งจะขอยกตัวอย่างประกอบเพื่อให้นักศึกษาเข้าใจความหมายของนิพพานได้ในหลายแง่มุมมากขึ้น
ก. ความหมายตามพระบาลีในพระไตรปิฎก คือ
ความหมายที่ 1 ความกำจัดราคะ ความกำจัดโทสะ ความกำจัดโมหะ นี้เป็นชื่อแห่งนิพพานธาตุ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า ธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ
ความหมายที่ 2 เพราะละตัณหาเสียได้ขาด จึงเรียกว่า นิพพาน
ความหมายที่ 3 ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรียกว่า นิพพาน
ความหมายที่ 4 อนุปาทาปรินิพพาน แปลว่า ความดับสนิทสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ คือ ความพ้นพิเศษแห่งจิต เพราะไม่ถือมั่น
ความหมายที่ 5 ยากที่จะเห็นได้ซึ่งฐานะแม้นี้ คือ พระนิพพาน ซึ่งเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา คลายความกำหนัด ดับทุกข์
ข. ความหมายตามอรรถกถา
ความหมายที่ 1 พระนิพพาน ท่านเรียกว่า โพธิ
ความหมายที่ 2 นิพพาน ชื่อว่า วิมุตติ เพราะพ้นแล้วจากสังขตธรรมทั้งปวง
ความหมายที่ 3 พระนิพพาน ชื่อว่า สุญญตะ อนิมิตตะ และอัปปณิหิตะ เพราะว่างเปล่าจากราคะ เป็นต้น และเพราะไม่มีราคะเป็นต้น เป็นเครื่องหมาย และเป็นที่ตั้งอาศัย
จากความหมายทั้งในพระบาลีและในอรรถกถา สามารถสรุปความหมายของนิพพานได้ดังนี้
นิพพาน หมายถึง ความสงบ ว่างเปล่าจากขันธ์ห้าและกิเลสอาสวะอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง จากความหมายนี้ บ่งบอกความว่า ธรรมชาติใดที่ไม่มีขันธ์ห้า และไม่มีกิเลสอาสวะตัณหา ธรรมชาตินั้น จัดเป็นนิพพานได้ จะโดยปริยาย(เทียบเคียง) หรือโดยนิปปริยาย(โดยแท้จริง) ก็ตาม เพราะเป็นสภาวะที่เข้ากันได้โดยเหตุที่ไม่มีกิเลสอาสวะ เป็นต้น

ธรรมชาติที่หมายถึงนิพพานดังกล่าวนี้ เมื่อประมวลรวมตามพระบาลีที่ยกมาแสดงและของท่านผู้รู้เห็นในปัจจุบันนี้ พอจะแบ่งได้เป็น 3 ประการ คือ
1. จิตที่หลุดพ้น คือ จิตที่รับรู้สภาวะนิพพานได้
2. ผู้หลุดพ้น คือ ผู้เข้าถึงนิพพาน ได้แก่ พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์
3. สภาวะที่หลุดพ้น คือ สภาพของพระนิพพานโดยแท้จริง
เมื่อนักศึกษาได้อ่านพระไตรปิฎก หรือคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา หากพบคำที่มีลักษณะทั้ง 3 ดังที่กล่าว ให้นักเรียนทราบว่า นั่นคือความหมายของนิพพานเช่นเดียวกัน

4. ประเภทของนิพพาน

นักศึกษาควรทำความเข้าใจก่อนว่า ตามภาวะแท้จริงแล้ว นิพพานมีอย่างเดียวเท่านั้น แต่ที่แยกประเภทออกไป ก็เพื่อแสดงอาการของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนิพพานบ้าง พูดถึงนิพพานโดยปริยาย คือ ความหมายบางแง่บางด้านบ้าง โดยพยัญชนะ หรือตามตัวอักษรบ้าง ได้แบ่งประเภทนิพพานที่รู้จักกันทั่วไป คือแบ่งเป็นนิพพานธาตุ 2 ประเภท ตามคัมภีร์อิติวุตตกะ ได้แก่
1. สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เรียกว่า นิพพานเป็น คือ นิพพานธาตุมีอุปาทิเหลือ หรือนิพพานยังมีเชื้อเหลือ
2. อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เรียกว่า นิพพานตาย คือ นิพพานธาตุไม่มีอุปาทิเหลือ หรือนิพพานไม่มีเชื้อเหลือ
สิ่งที่เป็นเกณฑ์แบ่งประเภทในที่นี้คือ "อุปาทิ" ซึ่งอรรถาธิบายว่า ได้แก่ สภาวะที่ถูกกรรมกิเลสถือครอง หรือสภาพที่ถูกอุปาทานยึดไว้มั่น หมายถึงเบญจขันธ์ (ขันธ์ 5) เมื่อถือความตามคำอธิบายนี้ จึงได้ความหมายว่า
1. สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ได้แก่ นิพพานยังมีเบญจขันธ์เหลือ หรือนิพพานที่ยังเกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์ หมายถึง ดับกิเลส แต่ยังมีเบญจขันธ์เหลือ ได้แก่ นิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังมีชีวิตอยู่ ตรงกับคำที่คิดขึ้น ในรุ่นอรรถกถาว่า กิเลสปรินิพพาน (ดับกิเลสสิ้นเชิง)
เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้น ขอนำข้อมูลในภาคปฏิบัติที่มีกล่าวไว้ใน คู่มือสมภาร ของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) มากล่าวไว้ ดังนี้
"นิพพานที่เป็นสถานที่อยู่ของกายธรรมนั้น อยู่ในศูนย์กลางของกายธรรมนั่นเอง ที่กล่าวนี้หมายความถึงเวลาที่
กายมนุษย์ของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ยังมีชีวิตอยู่ ใช้กายธรรมเดิน สมาบัติ 7 เที่ยว ตามแบบวิธีเดินสมาบัติที่เคยกล่าวไว้แล้วนั้น กายธรรมก็จะตกสูญเข้าสู่นิพพานในศูนย์กลางกายธรรมนั้น นิพพานนี้ชื่อว่า "นิพพานเป็น หรือ สอุปาทิเสสนิพพาน" เพราะเป็นนิพพานที่อยู่ในศูนย์กลางกายธรรมที่ซ้อนอยู่ในกลางกายอรูปพรหม กายรูปพรหม กายทิพย์ และกายมนุษย์เป็นลำดับเช่นนี้ ยังอยู่ในกลางของกายที่ยังหมกมุ่นครองกิเลสอยู่ตามสภาพของกายนั้นๆ ความบริสุทธิ์ของนิพพานที่อยู่ในท่ามกลางกิเลสเหล่านี้เอง ที่เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน"
2. อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ได้แก่ นิพพานไม่มีเบญจขันธ์เหลือ หรือนิพพานที่ไม่เกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์ หมายถึง ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ ได้แก่ นิพพานของพระอรหันต์เมื่อสิ้นชีวิต ตรงกับคำที่คิดขึ้นใช้ในรุ่นอรรถกถาว่า ขันธปรินิพพาน (ดับขันธ์ 5 สิ้นเชิง)
ในภาคปฏิบัติ พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) ได้กล่าวไว้ในคู่มือสมภารว่า (โดยย่อ) ดังนี้
"นิพพานเป็นอายตนะอันหนึ่ง ซึ่งแตกต่างออกไปจากโลกายตนะและอายตนะทั้ง 6 ทั้ง 12 นั้น เป็นอายตนะที่สูงกว่าวิเศษกว่า และประณีตกว่าอายตนะอื่น แต่ก็ทำหน้าที่ในลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ โลกายตนะทำหน้าที่ดึงดูดสัตว์โลกที่ยังมีความผูกพันอยูกับโลกไว้ ไม่ให้พ้นไปจากโลกได้ ส่วนอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ทำหน้าที่ดึงดูด รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ตามหน้าที่ของตนๆ และในทำนองเดียวกัน
อายตนะนิพพานก็มีหน้าที่ดึงดูดพระพุทธเจ้าพระอรหันต์เข้าไปสู่อายตนนิพพาน"
ข้อสรุปในส่วนของภาคปฏิบัติมีดังนี้ อนุปาทิเสสนิพพาน คือ สถานอันเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เรียกว่า อายตนนิพพาน ส่วนสอุปทิเสสนิพพาน คือ พระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ในอายตนนิพพานนั้น เรียกว่า พระนิพพาน (คือพระธรรมกายที่ประทับอยู่ ณ อายตนะนั้น)
เพื่อความแจ่มชัดยิ่งขึ้นไป และเพื่อให้นักศึกษาได้พิจารณาด้วยตนเอง จะนำข้อความตามบาลีเกี่ยวกับประเภทของนิพพานใน ธาตุสูตร มากล่าวไว้ดังนี้
"จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ 2 ประการนี้ 2 ประการเป็นไฉน คือ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ 1 อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ 1
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สอุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นย่อมเสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ ยังเสวยสุขและทุกข์อยู่ เพราะความที่อินทรีย์ 5 เหล่าใดเป็นธรรมชาติไม่บุบสลาย อินทรีย์ 5 เหล่านั้นของเธอยังตั้งอยู่นั่นเทียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ ของภิกษุนั้น นี้เราเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อนุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ เวทนาทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละของภิกษุนั้น เป็นธรรมชาติอันกิเลสทั้งหลายมีตัณหาเป็นต้นให้เพลิดเพลินมิได้แล้ว จักเย็น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ"
เมื่อพิจารณาตามพระสูตรนี้ที่แสดงนิพพานธาตุ 2 อย่างนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นการกล่าวถึงนิพพานโดยบรรยายอาการ หรือลักษณะแห่งการเกี่ยวข้องกับนิพพาน คือกล่าวถึงนิพพานเท่าที่เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้บรรลุ หรืออาจกล่าวได้ว่า ใช้บุคคลผู้บรรลุนิพพาน เป็นอุปกรณ์สำหรับทำความเข้าใจเกี่ยวกับนิพพาน มิใช่เป็นการบรรยายภาวะของนิพพานล้วนๆ โดยตรง ทั้งนี้เพราะภาวะของนิพพานเองแท้ๆ เป็นทิฏฐิกะ คือผู้บรรลุจะเห็นได้เอง และเป็น ปัจจัตตัง เวทิตัพพัง วิญญูหิ อันวิญญูชนรู้ได้จำเพาะที่ตัวเอง ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น โดยนัยนี้การอธิบายโดยแบ่งนิพพานเป็น 2 อย่าง
สรุปความว่า นิพพานมีอย่างเดียว แต่มองเป็น 2 ด้าน ด้านที่หนึ่งคือ นิพพานในแง่ของความสิ้นกิเลส ซึ่งมีผลต่อการติดต่อเกี่ยวข้องกับโลกภายนอก หรือต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ด้านที่สอง คือ นิพพานในแง่ที่เป็นภาวะจำเพาะล้วนๆ แท้ๆ ซึ่งเป็นประสบการณ์เฉพาะของผู้บรรลุ ไม่อาจหยั่งถึงด้วยประสบการณ์ทางอินทรีย์ 5 เป็นเรื่องนอกเหนือจากประสบการณ์ที่เนื่องด้วยขันธ์ 5 ทั้งหมด

5. คุณลักษณะที่น่าปรารถนาของนิพพาน

คุณลักษณะพระนิพพาน มีกล่าวไว้จำนวนมากในพระไตรปิฎก แต่ในที่นี้จะนำมากล่าวเฉพาะคุณลักษณะที่น่าปรารถนา อันมีอยู่ในพระนิพพาน ซึ่งพอจะเทียบเคียงกับความรู้สึกของคนโดยทั่วไปให้เข้าใจได้
1. นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ไม่มีสุขอื่นที่ยิ่งกว่า (นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ, นิพฺพาน สุขา ปรํ นตฺถิ)
ความสุขเป็นสิ่งที่สรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่าล้วนปรารถนากันทั้งสิ้น ที่ต้องดิ้นรน กระเสือกกระสน กระวนกระวายกันอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อต้องการหาความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสุขที่ไม่กลับกลายเป็นทุกข์อีก แต่ก็ยังแสวงหากันไม่พบ ส่วนมากความสุขที่พบและคิดว่าเป็นสุขสุดยอดแล้ว แต่ก็กลับมีทุกข์เป็นผลตามมาจนได้
เนื่องด้วยว่าความสุขอย่างอื่นเป็นสุขอันเกิดจากเจตสิก คือ สุขเวทนาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่ปรุงแต่งจิตให้มีความสุข เพราะเสวยอารมณ์ที่ชอบใจอันเป็นโลกิยธรรม คือ กามสุขฝ่ายอกุศล-กุศล หรือฌานสุข อันเกิดจากสมาธิขั้นสูง ความสุขเหล่านี้เกิดจากตัณหา 3 คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา อันเป็นตัวสมุทัย คือ ตัวเหตุแห่งทุกข์เจือปนอยู่ สิ่งใดเกิดแต่ตัณหามีตัณหาเจือปนอยู่ สิ่งนั้นย่อมนำผู้นั้นวนกลับสู่กองทุกข์อีก เพราะมีกำหนดเวลาของการเสวยสุข ฉะนั้นจึงยังเป็นสุขที่ไม่แท้จริง
ส่วนนิพพานสุข เป็นสุขที่ไม่มีเวทนา ไม่มีตัณหาเจือปนปรุงแต่ง(อสังขตธรรม) สิ่งใดที่ไม่มีการปรุงแต่ง ไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมเที่ยง ยั่งยืน เป็นอมตะ ดังนั้นสุขในนิพพานจึงเป็นสุขอย่างยิ่ง
การจะหาความสุขจากการสัมผัสพระนิพพานในปัจจุบันชาตินี้ แม้เป็นสิ่งที่ดูเหมือนว่าจะยาก แต่เราก็ไม่ควรจะละเลิกใฝ่หา เพราะตราบใดที่ยังเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นผู้มีอุปกรณ์ คือ กายกับจิตที่พร้อมจะสัมผัสนิพพานสุขในปัจจุบันชาติได้ ถ้าปฏิบัติได้ถูกวิธี แม้บุญบารมียังมิเต็มเปี่ยมที่จะบรรลุนิพพานสุขแท้จริงในชาตินี้ได้ แต่ขณะปฏิบัติจะได้รับความสุขที่พอให้เทียบเคียงกันได้กับความสุขในพระนิพพานเป็นลำดับไป นั่นคือ การทำใจให้หยุดนิ่ง จนบรรลุสมาธิระดับฌานต่างๆ ตั้งแต่ปฐมฌาน จนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ (ปฐมฌานจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานเป็นนิพพานโดยอ้อมหรือโดยเทียบเคียง แต่สัญญาเวทยิตนิโรธ จัดเป็นนิพพานโดยตรง เพราะเป็นความสุขแท้จริงเช่นเดียวกับในอายตนนิพพาน ที่สัมผัสได้ในปัจจุบันชาติ (อํ.อฏฐก. 23/251-255)
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกความสุขในระดับฌานสุขว่า ทิฏฐธรรมนิพพาน นิพพานเข้าถึงได้ในอัตภาพปัจจุบันนี้บ้าง สันทิฏฐิกนิพพาน นิพพานที่ผู้บรรลุพึงเห็นเองบ้าง อมตธรรมบ้าง นิโรธบ้าง เป็นต้น ในภาคปฏิบัติ พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) ได้กล่าวไว้ว่า

"ฌานนั้นแจ่มใสอยู่เสมอ ไม่ให้เสื่อม ไม่ให้สร่าง ไม่ให้หายไป อยู่ฌานนั้นร่ำไปเรียกว่าได้รับความสุข ในปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน สุขเยี่ยมยอดประเสริฐเลิศกว่าในโลกนี้นัก
เมื่อเข้าถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน แล้วก็ลืมยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทีเดียว สิ่งอื่นไม่เหลือใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
เอาใจรูปพรหมไปนั่งอยู่บนปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานลืมยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่มาเคาะใจทั้งหลับทั้งตื่น
สูงขึ้นไป สุขสูงขึ้นไปกว่านี้ เข้าถึงอรูปฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญานัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
เมื่อไปถึงอรูปฌานเช่นนั้นละก็ ความยินดีในรูปฌานนั้น ติดอยู่ในรูปฌานนั้นหายไป หลุดไม่ติดเลย ก็ไปติดอยู่ในอากาสานัญจายตนฌาน วิญญานัญจายตนฌาน อากิญจัญญาย ตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ได้รับความสุขอยู่ 840,000 มหากัลป์
เนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ขอบภพข้างบนนี่ สุขเลิศประเสริฐนัก ยอดสุขของในภพมีเท่านี้แหละ สูงกว่าไม่มี ยอดแล้วถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ ยอดสุขในภพแล้ว ไม่มีสุขยิ่งกว่านี้ขึ้นไป
ถ้าจะให้สุขยิ่งกว่านี้ขึ้นไป ต้องไปสู่ มรรค ผล นิพพาน พวกมีธรรมกายไปสู่นิพพานได้ ก็ได้ไปสอบสวนสุขในนิพพานได้ เข้าไปในนิพพานได้ เป็นนิ่งอยู่ในนิพพานเสียนี่ รับสุขในนิพพาน ทีเดียว
เมื่อได้รับสุขชนิดนี้ในนิพพานแล้ว คนที่พูดมากๆ เงียบหมด ไม่พูดแล้ว ใจคอครึ้ม สบาย เอิบอิ่ม ตื้นเต็ม ปลาบปลื้มว่าสุขชนิดนี้เราไม่เคยพบ ไม่เคยเห็น"
บทสรุปของลักษณะแรกนี้บ่งบอกถึงผลของการปฏิบัติที่ถูกวิธีตามลำดับก่อนจะถึงนิพพานสุขแท้จริงว่า ต้องได้รับผลคือความสุข(เว้นกามสุข) ทุกขั้นตอนของการปฏิบัติและการเข้าถึง ยิ่งมีความสุขเพิ่มขึ้นเรื่อยไปนั่นแสดงว่าถูกหนทางนิพพานแล้ว เพราะปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงนิพพานกับนิพพานต้องมีรสเป็นอันเดียวกันคือความสุขจากการหลุดพ้น
2. นิพพานเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่แปรปรวน ไม่สูญหาย เป็นธรรมชาติที่มีอยู่จริงโดยปรมัตถ์
ทุกข์อย่างหนึ่งของสรรพสัตว์โดยเฉพาะมนุษย์เรา คือ ความพลัดพราก ความแปรปรวนไปไม่ยั่งยืนจากสิ่งอันเป็นที่รัก และได้ประสบสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ สภาพร่างกายของตนเอง ล้วนทำให้เกิดทุกข์และเป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาทั้งสิ้น แต่สิ่งอะไรก็ตามที่เที่ยงแท้ถาวรไม่เป็นอื่นอีก ก็น่าไปอยู่ น่าสัมผัส น่าปรารถนา และน่าจะไปเป็นสิ่งนั้น ดังนั้นก็หาไม่ได้ในภพ 3 นอกจากพระนิพพาน ดังที่พระผู้มีพระ-ภาคเจ้าตรัสไว้ใน โมฆราชมาณวกปัณหานิทเทส ว่า
"บุคคลไม่พึงปรารถนาภพหรืออัตภาพอะไรๆ อื่น เว้นไว้แต่พระนิพพาน (อายตนนิพพานและพระ-ธรรมกายที่เข้านิพพาน) อันไม่มีปฏิสนธิ"
อาจมีผู้สงสัยว่า แม้เราบรรลุนิพพานแท้จริงด้วยอัตภาพใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ ทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหม แต่ถ้ายังเป็นกายในภพสามอันมีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และอนัตตามิใช่ตัวตนที่แท้จริง กายเหล่านั้นก็จำต้องแตกสลายไปในที่สุด ไม่สามารถที่จะเสวยผลแห่งนิพพานสุขตลอดนิรันดร์กาลได้ เพราะพระอรหันต์บางท่านก็นิพพานเร็วนัก เช่น พระพาหิยะพอบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ขณะที่แสวงหาบาตรจีวรเพื่ออุปสมบท ยังมิทันได้บริขารก็ถูกโคขวิดนิพพานก่อน หรือพระโคธิกเถระเชือดคอตนเองพร้อมกับการบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ก็นิพพานทันที เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่อุตสาหะเพียรพยายามสั่งสมบุญบารมีมาตลอด แสนมหากัปบ้าง เป็นอสงไขยอันนับมิได้บ้าง เพื่อจะเข้าถึงนิพพานสุขซึ่งมีสภาพเที่ยง จะมีประโยชน์อย่างไร
ปัญหานี้คงเป็นที่คลางแคลงใจของบางท่านที่เป็นนักคิดใฝ่หาความรู้ หากไปถามนักปริยัติหรือนักวิชาการ คงได้คำตอบว่า ก็ความดับสูญไปไม่ต้องรับทุกข์อีกนั่นคือเป็นการเสวยผลนิพพานสุข ซึ่งเราคงคิดต่อไปอีกว่า ดับสูญไปแล้วจะเป็นสุขอย่างไร การถามตอบก็คงจะไม่จบ เพราะผู้ตอบตอบได้เพียงหลักการ อนึ่งพระนิพพานก็มิได้อยู่ในวิสัยของการตรึกนึกคิด ฉะนั้นทางที่ถูกต้องคงต้องหาคำตอบจากท่านผู้รู้ที่ปฏิบัติเข้าถึง เห็นได้เฉพาะตนแล้ว และตัวเราเองก็ต้องลงมือปฏิบัติธรรม คือ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา กันอย่างจริงจัง จึงจะหาคำตอบที่มาพร้อมกับความสุขได้ ในที่นี้จึงต้องขอยกตัวอย่างคำอธิบาย การเจริญภาวนาวิชชาธรรมกายของ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) กล่าวไว้โดยสรุปความว่า
ในตัวบุคคลจะมีกายภายในซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ ทั้งหยาบละเอียดรวม 18 กายคือ ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์หยาบ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหมหยาบ กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหมหยาบ กายอรูปพรหมละเอียด และกายธรรมโคตรภูหยาบ กายโคตรภูละเอียด กายธรรมพระโสดาบันหยาบ กายโสดาบันละเอียด กายสกทาคามีหยาบ กายสกิทาคามีละเอียด กายอนาคามีหยาบ กายอนาคามีละเอียด กายธรรมพระอรหัตหยาบ กายธรรมพระอรหัตละเอียด กายเหล่านี้จะปรากฏให้เห็นในปัจจุบันชาตินี้ได้หากบุคคลนั้นปฏิบัติธรรมได้ถูกวิธี ก็จะเห็นเป็นแบบเดียวกันหมดเพราะมีอยู่แล้วในตัวทุกคน ซึ่งขึ้นอยู่กับการสั่งสมบุญบารมีมามากน้อยเพียงไร กายสุดท้าย คือ กายธรรมพระอรหัตของผู้ที่สั่งสมบุญบารมีเต็มเปี่ยมแล้วนี่แหละ จะเป็นผู้เสวยผลนิพพานสุขอย่างแท้จริง ทั้งในปัจจุบันชาตินี้ และเมื่อกายที่หุ้มอยู่ภายนอกเป็นชั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นกายมนุษย์ ทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหม ซึ่งเป็นกายที่เกิดจากตัณหา เมื่อถึงเวลาต้องดับสลายไป กายธรรมอรหัตก็จะถูกอายตนนิพพานดึงดูดเข้าสู่อายตนนิพพาน เสวยนิพพานสุขอย่างเที่ยงแท้นิรันดร์กาล
ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า "นิพพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง" ซึ่งหมายถึง พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตเจ้า ที่เข้านิพพานนั่นเองเป็นสุขอย่างยิ่ง"
แต่ทั้งนี้อย่าพึงเข้าใจว่า คงเป็นเช่นเดียวกันกับอัตตาของพวกเดียรถีย์ หรืออัตตาของพวกพราหมณ์ ซึ่งตั้งลัทธิตามที่คิดอนุมานเอา สมัยต้นกัปถือว่าเป็นชนชั้นล่าง เป็นนักคิด ไม่ใช่นักเพ่งฌาน (อชฺฌายิกา) ชอบถือแต่คัมภีร์เที่ยวบอกทางไปพรหมโลก แม้แต่พรหมก็ยังไม่เคยเห็นพรหมที่ตนถือว่าเป็นปรมัตตา (อัตตาที่ใหญ่ยิ่ง)ของพวกตน เมื่อถูกสืบสวนเอาจึงไม่อาจยืนยันรับรองได้ว่าเคยเห็นเคยเข้าถึงหรือมีผู้เข้าถึง ดังที่ตรัสว่า
"วาเสฏฐะ ปาจารย์ แม้คนหนึ่งของพราหมณ์ผู้จบไตรเพท ที่เห็นพรหมมีเป็นพยานอยู่หรือ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย พระเจ้าข้า"
หลักการปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาวิชชาธรรมกายดังกล่าว จึงเป็นแนวทางในการหาคำตอบได้วิธีหนึ่งของผู้ใคร่ปฏิบัติเพื่อจะไปรู้ไปเห็นเองเท่านั้น เพราะเป็นสันทิฏฐิกธรรมไม่อาจนำมาชี้ให้ดูได้ สำหรับผู้ที่ชอบวิชาการ ก็อย่ารีบด่วนคัดค้านเสียทันที เพราะสิ่งที่มีอยู่ในตำราก็เป็นเพียงแนวทางหนึ่งเท่านั้น หาได้บอกรายละเอียดทั้งหมดไม่ หากใคร่ทราบรายละเอียดที่แท้จริง ต้องวางตำราแล้วหันมาปฏิบัติอย่างถูกวิธี ก็จะรู้เห็นเองเพราะสิ่งนี้มีอยู่แล้วในตัวเราทุกคน
3. นิพพานไม่ถูกปรุงแต่ง เพราะเว้นจากลักษณะอันปัจจัยปรุงแต่ง คือ เว้นจากความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
บุคคลที่ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง คือไม่มีอำนาจ หรือตกอยู่ในอำนาจของคนอื่น ไม่ได้ที่จะทำอะไรตามความปรารถนาของตนเอง ย่อมไม่มีความสุขฉันใด สภาพธรรมอะไรก็ตามที่เป็นไปในอำนาจของกระบวนธรรมหรืออาศัยธรรมอื่นจึงเกิดขึ้นได้ สภาพธรรมนั้นย่อมเข้าในลักษณะของอนัตตา คือ ไม่เป็นไปในอำนาจของตัวเอง แต่เป็นไปในอำนาจของกระบวนธรรมปรุงแต่งขึ้น(ปฏิจจสมุปบาท) แต่สภาพธรรมใดไม่ตกอยู่ในอำนาจของกระบวนธรรม ไม่ต้องอาศัยปัจจัยอย่างอื่น แต่มีปรากฏอยู่แล้ว แก่บุคคลผู้มีปัญญาพึงเห็นได้เอง ดังที่ท่านกล่าวไว้ใน ปฏิสัมภิทามรรค ว่า
"ชื่อว่าชวนปัญญา เพราะหมายถึง ปัญญาเทียบเคียง พินิจ พิจารณาทำให้เห็นแจ่มแจ้งว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จักษุ อวิชชา ฯลฯ ชราและมรณะ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ไม่เที่ยงเพราะสิ้นไป เป็นทุกข์เพราะว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว เป็นอนัตตา เพราะว่าไม่มีแก่นสาร แล้วแล่นไปในนิพพาน เป็นที่ดับรูป...อวิชชา...ชราและมรณะ (อันเป็นอนัตตา)
สภาพธรรมนั้นก็ชื่อว่า เป็นสิ่งที่มีอำนาจเป็นของตนเอง พึ่งตนเองได้ (อตฺตทีปา อตฺตสรณา) ไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ(ถูกบีบคั้น) จะเรียกว่า เป็นอัตตาตัวตนของตนเองที่แท้จริงก็ย่อมได้ ดังเช่นที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสใน อนัตตลักขณะสูตร ว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้ารูป...วิญญาณนี้จักได้เป็นอัตตาแล้วไซร้ รูป...วิญญาณนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ" ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้ที่รูป...วิญญาณจะไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ เพราะเป็นสิ่งที่มิใช่ตัวตนแท้จริง(อนัตตา) แต่มีอยู่สิ่งเดียวเท่านั้นที่ไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ สิ่งนั้น คือ พระนิพพาน อันเป็นสภาพที่น่าปรารถนา น่าอยู่ น่าไปสัมผัส
จากคุณลักษณะที่น่าปรารถนาของนิพพานที่กล่าวมา 3 ประการนั้น เป็นการกล่าวเฉพาะคุณลักษณะเด่น เพื่อให้เห็นความน่าปรารถนาของนิพพาน ที่ควรแก่การปฏิบัติไปให้ถึงนิพพานในอนาคตให้ได้ ซึ่งความจริงแล้วยังมีคุณลักษณะที่น่าปรารถนาของนิพพานอีกมาก เช่น ไม่มีการทะเลาะวิวาท ไม่มีการเบียดเบียน เป็นที่สงบเย็น เป็นต้น ซึ่งหากนักศึกษาต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถค้นหาจากตำราวิชาการด้านพระพุทธศาสนาได้ทั่วไป

6. เตรียมความพร้อมไปสู่นิพพาน

การจะเดินทางไปไหนก็ตาม ในโลกมนุษย์นี้จะต้องมีการเตรียมการ เตรียมเสบียงให้พร้อม จึงจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางได้ฉันใด การจะไปนิพพานอันเป็นบรมสถานที่ปราศจากทุกข์ เป็นบรมสุข และเป็นหนทางที่แสนยาวไกล เราจำเป็นต้องมีการเตรียมการอย่างดี จึงจะบรรลุถึงจุดหมายได้ฉันนั้นเหมือนกัน
การเตรียมตัวไปนิพพานแม้จะไม่เหมือนกับการเตรียมเดินทางในโลกนี้ ก็ตาม แต่มีสิ่งหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน คือ ต้องมีการศึกษาตามลำดับ จากท่านผู้รู้ทั้งหลายในอดีต ในคัมภีร์พุทธศาสน์ได้กล่าวถึงการเตรียมตัวที่เรียกว่า การบำเพ็ญบารมีเพื่อไปนิพพานของท่านผู้รู้ 4 ประเภท คือ
1. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
2. พระปัจเจกพุทธเจ้า
3. พระอัครสาวก
4. พระอรหันตสาวกปกติ
การบำเพ็ญบารมีของท่านผู้รู้เหล่านี้ มีระยะเวลาไม่เท่ากัน ทั้งนี้เพราะเนื่องด้วยความปรารถนาคุณธรรมที่ต้องการบรรลุมีความยิ่งหย่อนกว่ากัน คือ
1. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องบำเพ็ญคุณความดีโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันอย่างยิ่งยวด ใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 4 อสงไขย กับอีกแสนมหากัป อย่างสูงสุด 16 อสงไขย กับอีกแสนมหากัป แล้วแต่ประเภทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อต้องการขนสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ในวัฏสงสาร ไปสู่นิพพานให้ได้มากที่สุด จึงต้องเตรียมการมาก ทำให้พระองค์เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมทุกอย่าง
2. พระปัจเจกพุทธเจ้า ต้องบำเพ็ญคุณความดีอย่างยิ่งยวดใช้เวลา 2 อสงไขยกับอีกแสนมหากัป เพื่อต้องการตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เอง แต่มิได้ขนสรรพสัตว์เข้าสู่นิพพาน จึงเป็นผู้มีคุณธรรมรองจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
3. พระอัครสาวกซ้ายขวา ต้องบำเพ็ญคุณความดีอย่างยิ่งยวดใช้เวลา 1 อสงไขยกับอีกแสนมหากัป ตรัสรู้ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อช่วยพระพุทธองค์ในการขนสรรพสัตว์เข้าสู่นิพพาน มีคุณธรรม รองจากพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่มีมากกว่าปกติสาวก เพราะต้องทำคุณประโยชน์มากกว่า
4. พระอรหันตสาวกปกติ เช่น พระอสีติมหาสาวก เอตทัคคะผู้เป็นเลิศด้านต่างๆ พระอรหันต์ทั่วไป ต้องบำเพ็ญคุณความดีอย่างยิ่งยวดใช้เวลาแสนมหากัป เพื่อความเป็นเลิศด้านต่างๆ บ้าง เพื่อกล่าว สอนผู้อื่นบ้าง เพื่อตรัสรู้เฉพาะตนบ้าง
คุณความดีอย่างยิ่งยวดที่ท่านผู้รู้เหล่านั้นบำเพ็ญมาในอดีตเพื่อเตรียมไปนิพพาน คือบารมี 10 ได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี(การเว้นจากกาม) ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจ-จบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี ที่ว่าทำความดีอย่างยิ่งยวดนั้น หมายถึง การทำความดี ชนิดที่สามารถสละอวัยวะหรือชีวิตได้ ที่เรียกว่า ทำความดีแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ในที่นี้จะไม่ขอจำแนกรายละเอียดไว้ ผู้ใฝ่ศึกษาพึงหาอ่านได้จากตำราพุทธศาสน์ที่มีผู้รู้เขียนไว้แล้วได้ทั่วไป
คุณความดีอย่างยิ่งยวดทั้งหมดนี้ เป็นการทำความดีอย่างเป็นระบบแล้ว หลังจากที่ได้รับพุทธพยากรณ์ แต่สำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วไป ที่ยังไม่มุ่งจะไปนิพพานเต็มที่นัก แต่ก็ควรเตรียมตัวดังนี้
1. ให้ยึดมั่นและหมั่นระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นผู้ใคร่เห็นพระภิกษุสงฆ์ และเข้าไปหาภิกษุผู้ปฏิบัติเห็นจริง ฟังธรรมคำแนะนำจากท่าน
2. เว้นความชั่ว และลืมอดีตที่ผิดพลาดทั้งปวง
3. หมั่นทำความดีทุกรูปแบบที่มาถึง อย่างน้อย คือ หมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนาตาม วิธีที่ถูกต้องประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสั่งสมบุญไว้ในพระพุทธศาสนา และทักขิไณยบุคคล คือ ภิกษุสงฆ์ และให้อธิษฐานทุกครั้งว่า
"ขอบุญกุศลที่ข้าพเจ้าทำในครั้งนี้ จงเป็นไปเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพานเทอญ"
4. หมั่นทำใจให้หยุดนิ่งจนเข้าถึงนิพพานปัจจุบัน(โดยอ้อม) ถ้าสามารถปฏิบัติได้เพียงเท่านี้ เราก็มีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงนิพพานในปัจจุบัน อันจะทำให้เกิดฉันทะอุตสาหะที่จะทำความดีอย่างยิ่งยวดเพื่อมุ่งไปสู่นิพพานโดยตรงต่อไป
ในข้อปฏิบัติสำหรับเตรียมตัวไปพระนิพพาน มีกล่าวไว้ในพระสูตรดังนี้
"นรชนบางคนในโลกนี้ ให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถกรรม เข้าไปตั้งไว้ซึ่งน้ำดื่มน้ำใช้ กวาดบริเวณ ไหว้พระเจดีย์ บูชาด้วยเครื่องหอมและดอกไม้ที่พระเจดีย์ ทำประทักษิณพระเจดีย์ บำเพ็ญกุศลที่ควรบำเพ็ญอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นไตรธาตุ ก็ไม่บำเพ็ญ เพราะเหตุแห่งคติ ไม่บำเพ็ญ เพราะเหตุแห่งอุปบัติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งปฏิสนธิ ไม่บำเพ็ญ เพราะเหตุแห่งภพ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งสงสาร ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งวัฏฏะ เป็นผู้มีความประสงค์ในอันพรากออกจากทุกข์ มีใจน้อมโน้มโอนไปในนิพพาน ย่อมบำเพ็ญกุศลทั้งปวงนั้น แม้เพราะเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า นรชน พึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน"
มีอีกพระสูตรหนึ่งกล่าวว่า
"คนบางคนในโลกนี้ปรารถนาอยู่ซึ่งวิวัฏฏะ(นิพพาน) จึงให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถ ทำการบูชาพระรัตนตรัยด้วยสักการะทั้งหลายมีเครื่องหอมและพวงดอกไม้ เป็นต้น ฟังธรรม (และ) แสดงธรรม ทำฌานและสมาบัติให้บังเกิด เขาทำอยู่อย่างนี้ ย่อมได้นิปปริยายธรรม คือ อมตนิพพานโดยลำดับ"

7. การเจริญภาวนาที่มุ่งตรงต่อนิพพาน

นักศึกษาได้เรียนรู้หัวข้อต่างๆ ของนิพพานมาพอสมควรแล้ว ลำดับต่อไป นักศึกษาจะได้ศึกษาว่า การภาวนาตามทางสายกลางเป็นหนทางที่จะนำไปสู่นิพพาน ซึ่งในที่นี้จะขอนำข้อความที่พระสารีบุตรได้ตอบข้อสงสัยเรื่องข้อปฏิบัติเพื่อการทำพระนิพพานให้แจ้งกับชัมพุขาทกปริพาชกใน นิพพานปัญหาสูตร ว่า
"ดูก่อนผู้มีอายุ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ ตั้งสติชอบ ตั้งใจชอบ นี้แลเป็นมรรคา เป็นปฏิปทาเพื่อกระทำนิพพานนั้นให้แจ้ง"
จากข้อความนี้ ทำให้เราทราบว่า ข้อปฏิบัติที่จะนำเราไปสู่พระนิพพาน คือ การภาวนาให้ตรงทางอริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นทางปฏิบัติสายกลางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ครั้งแรกในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ณ ป่าอิสิปตมฤคทายวัน ในการแสดงธรรมครั้งนั้นมีพระโกณฑัญญะบรรลุธรรมเป็น บุคคลแรก และรวมถึงเหล่าเทวดาจำนวนมากที่บรรลุธรรมเช่นเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเนื้อความในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เรื่องมรรคมีองค์ 8 นี้ เป็นแม่บทของการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระนิพพานอย่างแท้จริง แต่การจะปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ได้ถูกต้องตรงทางนั้น จะต้องฝึกฝนตเองอย่างยิ่งยวด และมีความเพียรในการเจริญภาวนาอย่างเต็มที่อีกด้วย
ในเรื่องการภาวนาตามมัชฌิมาปฏิปทานี้ เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจมากขึ้น จะขอยกตัวอย่างบทเทศน์ของพระมงคลเทพมุนี (สด จนทฺสโร) ที่กล่าวไว้ตอนหนึ่ง ซึ่งทำให้เห็นภาพของการปฏิบัติได้ชัดเจนยิ่งขึ้นดังนี้
"อริยมรรคมีองค์ 8 หรือ มัชฌิมาปฏิปทาหรือข้อปฏิบัติอันเป็นกลางนั้น คือ การเจริญมรรคมีองค์ 8 ครั้นปฏิบัตได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ พอถูกส่วนเข้าองค์มรรคทั้ง 8 ประการย่อมรวมตัวกันเป็นดวงกลมใสบริสุทธิ์ อย่างเล็กอาจจะมีขนาดเท่าดวงดาว อย่างกลางก็ขนาดดวงจันทร์ อย่างใหญ่ก็ขนาดดวงอาทิตย์ ปรากฏขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7เรียกว่า "ดวงปฐมมรรค" หรือ "ดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน" ซึ่งเป็นเครื่องหมายบ่งบอกให้ทราบว่า ผู้ปฏิบัติได้บรรลุถึงต้นทางของอายตนนิพพานแล้ว"
ดวงปฐมมรรคนี้มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สว่างโพลงอยู่ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ของผู้เข้าถึงอยู่ตลอดเวลา ยามหลับ ก็จะหลับอย่างเป็นสุข ยามตื่น ก็จะรู้สึกสดชื่น แจ่มใสเบิกบานอยู่เสมอ ยามปฏิบัติหน้าที่การงานสิ่งใด ก็จะพากเพียรทำไปจนบรรลุประสิทธิผล โดยมิได้รู้สึกท้อแท้ หรือหวังลาภสักการะเป็นการตอบแทน นอกจากนั้นยังช่วยให้ความทรงจำ ตลอดจนปฏิภาณไหวพริบ และความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นอย่างคล่องแคล่วรวดเร็วทำให้บุคคลสามารถใช้สติปัญญาแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่ทว่าความสุขและความสำเร็จอันเกิดจากดวงปฐมมรรคนี้ก็ยังหาเพียงพอไม่ สำหรับโยคาวจรบุคคลผู้หวังมรรคผลนิพพานเป็นแก่นสารแห่งชีวิต
ดังนั้น จึงยังจำเป็นจะต้องดำเนินจิตต่อไป ให้บรรลุความสุขและความสำเร็จเบื้องสูงต่อไปอีก ด้วยการปล่อยวางดวงปฐมมรรคโดยการดำเนินจิตเข้าสู่กลางดวงปฐมมรรคนั้นเอง ครั้นแล้วจะได้พบว่า ดวงปฐมมรรคนั้นแผ่ขยายกว้างออกไป ทำนองเดียวกับการขยายเป็นวงกว้างของผิวน้ำ เมื่อเราโยนก้อนหินลงไปฉะนั้น จากนั้นจิตก็จะดำเนินดิ่งเข้ากลางของกลาง ซึ่งอยู่ในกลางดวงปฐมมรรคนั้นไปเรื่อยๆ ผ่านดวงต่างๆ และกายต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วไปจนกระทั่งบรรลุกายธรรมพระอรหัตเป็นที่สุด กายธรรมนี้เอง คือ พระนิพพานที่จะนำเราไปสู่อายตนนิพพาน
สรุป
เมื่อนักศึกษาได้ทำความเข้าใจทุกหัวข้อแล้ว ทำให้นักศึกษาทราบว่า พระนิพพานนั้นเป็นบทสรุปของทุกชีวิตในสังสารวัฏ ซึ่งมีอยู่จริงตามพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เป็นผู้รู้แจ้งแทงตลอด ในสรรพสิ่งทั้งปวง หากเราปฏิบัติตามมัชฌิมาปฏิปทา จนสามารถละกิเลสให้หมดสิ้นได้ตามลำดับ ได้เป็นพระอริยบุคคลแล้ว แม้ในขณะที่มีชีวิตอยู่ก็สามารถเข้าถึงพระนิพพานได้ เมื่อละโลกไปแล้วก็จะกลับไปสู่พระนิพพาน ไม่มีวันที่จะต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป จะหลุดพ้นการเวียนว่ายตายเกิดในภพ 3 พ้นจากกฎของ ไตรลักษณ์ ดังนั้นนิพพานจึงเป็นดินแดนอันเกษมที่สงบ ปราศจากความทุกข์ทั้งปวง มีสุขเพียงอย่างเดียว สมดังพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า "นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง"

จากการศึกษาในบทเรียนที่ผ่านมา นักศึกษาคงจะทราบว่า ในภูมิต่างๆ นั้นทั้งฝ่ายสุคติ มีมนุสสภูมิ เท-วภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ และทุคติ มีอบายภูมิ ล้วนยังตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ มีทุกข์ ไม่เที่ยง และไม่ใช่ตัวตน ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิเหล่านี้ยาวนานนับชาติไม่ถ้วน จนกว่าจะหมดกิเลส เข้าสู่ฝั่งนิพพาน อันเป็นภูมิสูงสุดในโลกุตรภูมิ
จากภพภูมิที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ภูมิมนุษย์เท่านั้น ที่มีความพิเศษกว่าภูมิอื่น เพราะเป็นสถานที่สร้างบุญและบาปได้อย่างเต็มที่ ถ้าหากสร้างความดีอย่างเต็มที่ จนสามารถละกิเลสได้แล้ว ย่อมเข้าสู่โลกุตรภูมิตามลำดับกิเลสที่ละได้ และหากละได้เด็ดขาดก็ย่อมไปสู่ฝั่งพระนิพพาน ดังนั้นนิพพานจึงเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์
เมื่อนักศึกษาทราบอย่างนี้แล้ว ก็ควรจะหมั่นฝึกฝนอบรมตนเองให้ยิ่งๆ ขึ้นไป พยายามลดละเลิกนิสัยสิ่งไม่ดีทั้งปวง สิ่งใดที่เป็นความดีงามต้องสั่งสมให้ยิ่งขึ้น ทั้งทาน ศีล และภาวนา เพื่อทำเป้าหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ คือ การไปสู่พระนิพพาน



พระจิตติเทพ ฌานวโร เรียบเรียง
ที่มา:
อวิชชา ๘